คดีธัมมชโย
ยื้อ-จบยากสนช.ดึง'จรัญ'ร่วมแก้กม.สงฆ์
หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันพุธที่ 1 มีนาคม 2560 00:00:56 น.
หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันพุธที่ 1 มีนาคม 2560 00:00:56 น.
ระหว่างที่ "ปมปัญหาธัมมชโย" ยังไม่จบ และมีแนวโน้มอาจยืดเยื้อไปอีกนาน ระหว่างนี้แวดวงพุทธศาสนาและแวดวงสงฆ์ ก็กำลังให้ความสนใจกับความเคลื่อนไหวของ คณะกรรมาธิการศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีการตั้งคณะทำงานปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา โดยมี "สมพร เทพสิทธา ประธานอนุ กมธ.ศาสนา" เป็นประธานคณะทำงาน
ปรากฏว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวถูกจับตามองจากแวดวงสงฆ์อย่างมาก เพราะก่อนหน้านี้ตอน สนช.มีมติแก้ไขมาตรา 7 พ.ร.บ.สงฆ์ 3 วาระรวด เพื่อปลดล็อกการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชฯ ต้นเรื่องแก้มาตรา 7 ดังกล่าว ก็มาจาก กมธ.ศาสนาฯ ชุดนี้ ที่ผลักดันจนสำเร็จ
พอมารอบนี้ เมื่อ สนช.เริ่มขยับ เลยทำให้แวดวงสงฆ์ให้ความสนใจกันอย่างใกล้ชิด ยิ่งเมื่อเสียงเชียร์ให้มีการ "ปฏิรูปพุทธศาสนา" ดังขึ้นเรื่อยๆ หลังเกิดกรณี "ปัญหาวัดธรรมกาย"เสียงสนับสนุนให้มีการปฏิรูปวงการสงฆ์ก็ยิ่งดังขึ้นเรื่อยๆ จากที่คนส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยอยู่แล้ว เพราะที่ผ่านมาวงการสงฆ์ก็มีปัญหาเรื่อง "พระนอกรีต" ประพฤติตัวไม่เหมาะสม รวมถึงเรื่อง "พุทธพาณิชย์" ซึ่งช่วงหลังเริ่มหนักขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้คนจำนวนไม่น้อยเสื่อมศรัทธาต่อวงการพุทธศาสนาอย่างมาก
ทั้งนี้ ประเด็นที่คณะทำงานชุดนี้ตั้งเอาไว้ก็คือ จะเสนอแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 ใน 2 มาตรา คือมาตรา 1222 คือแก้ให้มีข้อความว่า "การรับมรดกตกทอดของบุคคลที่บวชเป็นพระไม่ควรที่จะได้รับมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษ เพราะไม่มีความเหมาะสม เนื่องจากไม่ได้เป็นฆราวาส"
และมาตรา 1223 เสนอให้แก้ไขแล้วเขียนว่า "เมื่อบุคคลที่มาบวชเป็นพระเมื่อได้รับปัจจัยต่างๆ ที่มีมูลค่ามาก ไม่ควรจะเก็บไว้เอง ควรจะเป็นของวัด หรือให้ตกเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน"
ทั้งนี้ เบื้องต้นคณะทำงานชุดนี้วางกรอบเวลาเอาไว้ว่าจะพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในไม่เกิน 30 วัน ที่ก็คือจะไม่เกินเดือนมีนาคม อย่างไรก็ตาม หากไม่แล้วเสร็จ ก็จะมีการขยายเวลาต่อไปได้
โดยเมื่อพิจารณาเสร็จ ก็จะนำเสนอต่อที่ประชุม กมธ.ศาสนาฯ ชุดใหญ่ที่มี พล.ต.อ.พิชิต ควรเตชะคุปต์ เป็นประธาน หากที่ประชุมเห็นด้วย และเห็นว่าควรทำเป็นรายงานข้อเสนอของ กมธ. ก็จะจัดทำเป็นรายงานเสนอต่อประธาน สนช.ต่อไป
ส่วนจะถึงขั้นเสนอเป็นร่าง พ.ร.บ.แก้ไข พ.ร.บ.สงฆ์ฯ หรือไม่ ต้องดูที่ท่าทีของฝ่ายรัฐบาลว่าเห็นด้วยหรือไม่ รวมถึงเสียงส่วนใหญ่ใน สนช.ว่าเห็นด้วยกับหลักการนี้หรือไม่ หาก สนช.จำนวนมากเห็นด้วย ว่าสมควรแก้ไข พ.ร.บ.สงฆ์ฯ ก็ต้องดูว่ารัฐบาลจะเอาอย่างไร จะรับรายงานของ กมธ.และ สนช.ไปพิจารณาศึกษาจนเสนอเป็นร่าง พ.ร.บ.แก้ไขฯ กลับเข้ามาที่สภาฯ หรือไม่ หากรัฐบาลไม่อยากเป็นเจ้าภาพ แต่เสียงส่วนใหญ่ใน สนช.เอาด้วย สนช.ก็ต้องมีการเข้าชื่อเสนอเป็นร่าง พ.ร.บ.แก้ไข พ.ร.บ.สงฆ์ฯ เข้ามาให้ สนช.พิจารณาตามขั้นตอนต่อไปซึ่งทั้งหมดต้องอยู่ที่ "สัญญาณพิเศษ" บางอย่างด้วยว่าสนับสนุน-เอาด้วยหรือไม่ เช่นท่าทีของพระชั้นผู้ใหญ่ในวงการสงฆ์ว่าอย่างไร-รัฐบาล คสช.ไฟเขียวหรือไม่
แต่เบื้องต้น กมธ.ของ สนช.ก็บอกไว้ว่า จะไม่รีบเร่งดำเนินการ จะมีการรับฟังความเห็นของฝ่ายต่างๆ ในวงการสงฆ์ รวมถึงฝ่ายสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติด้วยว่า มีความเห็นในเรื่องนี้อย่างไร มีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอย่างไรบ้าง เพื่อทำให้การผลักดันเรื่องนี้มีเสียงสนับสนุนมากกว่าเสียงคัดค้านจึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไปว่า สุดท้าย กมธ.ศาสนาฯของ สนช.จะเดินหน้าการแก้ไข พ.ร.บ.สงฆ์ 2 มาตราดังกล่าวหรือไม่ หรือจะแค่ศึกษาเฉยๆ แล้ว แต่ไม่ขับเคลื่อนอะไร เพราะเกรงจะมีปัญหาเจอแรงต้าน
ทั้งนี้ หากพิจารณาดูจาก 2 มาตราดังกล่าว ที่มีการศึกษากัน จะพบว่าเป็นประเด็นที่ดูแล้วคนส่วนใหญ่เห็นด้วยแน่นอน โดยเฉพาะกับการเสนอแก้ไขมาตรา 1223 ที่จะให้เขียนว่า "เมื่อบุคคลที่มาบวชเป็นพระเมื่อได้รับปัจจัยต่างๆ ที่มีมูลค่ามาก ไม่ควรจะเก็บไว้เอง ควรจะเป็นของวัด หรือให้ตกเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน" เพราะที่ผ่านมาต้องยอมรับว่ามักจะเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นมาให้เห็นอยู่เสมอ ดูได้จากกรณี "ที่ดินธัมมชโย" ที่เคยสร้างปัญหาจนเกือบทำให้ต้องอาบัติปาราชิกมาแล้ว เพราะไปนำที่ดินซึ่งคนบริจาคให้วัดธรรมกายไปใส่ชื่อของตัวเอง อย่างเดียวก็เห็นชัดถึง "จุดอ่อน" ของเรื่องนี้แล้ว ดังนั้น หากจะมีการแก้ไขมาตราดังกล่าวเกิดขึ้น ก็เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ในสังคมเห็นด้วยแน่นอน และหากมีคนในวงการผ้าเหลืองคนไหนออกมาคัดค้าน ก็ต้องตั้งคำถามกลับไปว่า ที่ค้าน ค้านเพราะเหตุผลใด
แต่ในส่วนของการจะเขียน "ห้ามพระรับมรดก" นั้น มีข่าวว่า อาจเขียนได้ยาก เพราะอาจไปขัดกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และเป็นการไปจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานได้ และมีคนท้วงว่า อาจเป็นผลเสียมากกว่าผลดี เพราะหากพระได้รับมรดกแล้วทำไม่ได้ เพราะขัด กม.สงฆ์ฯ ก็อาจทำให้มีพระสึกออกไปรับมรดกตามมา
ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ การที่ สนช.ได้ "จรัญ ภักดีธนากุล" ที่ปัจจุบันเป็น "ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ" มาช่วยเป็นคณะทำงานพิจารณาปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.สงฆ์ฯ ถือเป็นเรื่องที่หลายคนคาดไม่ถึง ที่เหตุใดจรัญ-ตุลาการศาล รธน. ซึ่งผ่านตำแหน่งสำคัญในวงการศาลยุติธรรมมาแล้วมากมาย ถึงมาเป็นคณะทำงานพิจารณาศึกษาการแก้ไขกฎหมายสงฆ์ฯ ให้ สนช.ในครั้งนี้ โดยบางคนวิเคราะห์ว่า อาจเพราะเป็นที่รู้กันดีว่า จรัญมีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเชื่อมโยงกับมาตราใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฯ ที่ สนช.ทำการศึกษาแก้ไข จึงขอให้มาช่วยให้ความเห็น จุดนี้ถือว่ามีน้ำหนัก
อย่างไรก็ตาม ก็พบว่า "จรัญ" ที่เข้ารับตำแหน่งตุลาการศาล รธน. เมื่อ พ.ค. ปี 2551 ดังนั้นอีกไม่ถึง 3 เดือนต่อจากนี้ ก็จะต้องพ้นจากตำแหน่งตุลาการศาล รธน.แล้ว เนื่องจากอยู่ครบ 9 ปี
การขยับของ กมธ. สนช. ที่ตั้งแท่น แก้ไข พ.ร.บ.สงฆ์ฯ ในมาตราเกี่ยวกับเรื่อง "เงินๆ ทองๆ" ในแวดวงสงฆ์ครั้งนี้ โดยมีจรัญมาร่วมเป็นคณะทำงานด้วย เป็นความน่าสนใจที่ต้องติดตามต่อไป
...........................................................................................................................................................................................
สิ่งที่ได้เรียนรู้
จากการอ่านข่าวเรื่องการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับพระสงฆ์
ผมเชื่อว่าในการแก้ไขมาตราต่าง ๆ สามารถทำได้แต่ก็ต้องอยู่ในขอบเขตที่ถูกต้องด้วย
เช่นมาตรา 1222 ที่มีข้อความว่า
"การรับมรดกตกทอดของบุคคลที่บวชเป็นพระไม่ควรที่จะได้รับมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษ
เพราะไม่มีความเหมาะสม เนื่องจากไม่ได้เป็นฆราวาส" ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่สมควรที่จะแก้ไขให้เกิดมาตรนี้เพราะว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
เป็นการไม่มีมนุสสธรรมและยังขัดกับกฎหมายมรดกอีกต่างหาก และถ้าหากกฎหมายข้อนี้มีการบังคับใช้ก็อาจจะเป็นการเสมือนตัดความสัมพันธ์ระหว่างบิดา
มารดากับบุตร และถ้าหากวันใด พระสงฆ์ได้ลาสิขาบทก็จะทำให้เสียสิทธิ์ในส่วนนั้น ๆ
ไป และที่ผ่านมาคือ การบวชเป็นการปฏิบัติตตามประเพณีโบราณมิชิการบวชเพื่อสละเพื่อสละโลก
ส่วนในของ มาตรา 1223 ที่เสนอให้แก้ไขแล้วเขียนว่า "เมื่อบุคคลที่มาบวชเป็นพระเมื่อได้รับปัจจัยต่าง ๆ ที่มีมูลค่ามาก ไม่ควรจะเก็บไว้เอง ควรจะเป็นของวัด หรือให้ตกเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน" ในส่วนนี้เป็นเรื่องของพระสงฆ์เอง เพราะกว่าจะได้ ปัจจัย มา พระบางรูปต้องเดินบิณฑบาตไกลมาก บางรูปต้องไปสวดตามงานต่าง ๆ ซึ่งในเรื่องของการจับจ่ายใช้สอยก็น่าจะปล่อยให้เป็นเรื่องส่วนตัวบ้าง ผ่อนปรน ลดหย่อนกันบ้างตามวิถีโลก เพราะว่า ทุกวันนี้จะซื้ออะไร จะกินอะไรล้วนต้องใช้เงินในการจับจ่ายใช้สอย อีกทั้งพระบางรูปก็เสียสละปัจจัยที่ตัวเองได้มาให้กับการบำรุงทำนุพระพุทธศาสนาต่อไป
ส่วนในของ มาตรา 1223 ที่เสนอให้แก้ไขแล้วเขียนว่า "เมื่อบุคคลที่มาบวชเป็นพระเมื่อได้รับปัจจัยต่าง ๆ ที่มีมูลค่ามาก ไม่ควรจะเก็บไว้เอง ควรจะเป็นของวัด หรือให้ตกเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน" ในส่วนนี้เป็นเรื่องของพระสงฆ์เอง เพราะกว่าจะได้ ปัจจัย มา พระบางรูปต้องเดินบิณฑบาตไกลมาก บางรูปต้องไปสวดตามงานต่าง ๆ ซึ่งในเรื่องของการจับจ่ายใช้สอยก็น่าจะปล่อยให้เป็นเรื่องส่วนตัวบ้าง ผ่อนปรน ลดหย่อนกันบ้างตามวิถีโลก เพราะว่า ทุกวันนี้จะซื้ออะไร จะกินอะไรล้วนต้องใช้เงินในการจับจ่ายใช้สอย อีกทั้งพระบางรูปก็เสียสละปัจจัยที่ตัวเองได้มาให้กับการบำรุงทำนุพระพุทธศาสนาต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น